Suan Kaew in the Past
สวนแก้วในอดีต
ผลงานประติมากรรมแต่ละชิ้นภายในโครงการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ศิลปะกลางแจ้ง ณ บริเวณสวนแก้ว มหาวิทยาลัยศิลปากร วังท่าพระนั้น ล้วนเป็นผลงานของศิลปินชั้นครูผู้เป็นบุคคลสำคัญต่อวงการศิลปะในไทย เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์กับทางมหาลัยวิทยาลัยอย่างแท้จริง
โครงการพิพิธภัณฑ์ศิลปะกลางแจ้ง ณ บริเวณสวนแก้ว มหาวิทยาลัยศิลปากร วังท่าพระ รวบรวมผลงานประติมากรรมที่ทรงคุณค่าอันเป็นมรดกจากศิลปินชั้นครูมากมายหลายท่าน ที่เริ่มชำรุดผุกร่อนไปตามกาลเวลา มาทำการหล่อขึ้นใหม่ด้วยวัสดุที่คงทนถาวร แล้วจัดประดับอย่างเหมาะสมในบริเวณสวนแก้ว เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนได้ชื่นชมมรดกทางศิลปะเหล่านั้น เป็นการเผยแพร่และเชิดชูเกียรติประวัติของศิลปินผู้สร้างสรรค์งานทางหนึ่ง ทั้งยังเป็นการปลูกฝัง และเสริมสร้างความรัก ความชื่นชมในศิลปะ ซึ่งมีผลในการจรรโลงจิตใจทางอ้อมอีกด้วย |
ผลงานของมิเซียม ยิบอินซอย ศิลปินหญิงคนแรกที่ได้รับเลือกให้เป็นศิลปินชั้นเยี่ยมของไทย ด้วยผลงานจิตรกรรมที่สามารถคว้ารางวัลเหรียญทอง จากการประกวดศิลปกรรมแห่งชาติติดต่อกันถึงสามครั้ง ก่อนที่จะหันมาสนใจในด้านประติมากรรม มิเซียมถือได้ว่าเป็นผู้ที่ให้การสนับสนุนผลงานคนสำคัญภายในโครงการศิลปะกลางแจ้งนี้ และผลงานกระโดดเชือก ก็ถือเป็นผลงานที่ได้รับความอนุเคราะห์ชิ้นแรก ในการรวบรวมผลงานทั้งหมดภายใต้โครงการ ผลงานของมิเซียม มีเอกลักษณ์จากความเรียบง่าย ได้รับแรงบันดาลใจจากบุคคลในครอบครัว มิเซียมเชื่อว่ารูปปั้นหรือประติมากรรมนั้นควรจะอยู่นอกบ้าน เป็นอันหนึ่งอันเดียวกับธรรมชาติ เช่นเดียวกับที่ภาพวาดหรือจิตรกรรมที่ควรจะประดับอยู่ในบ้าน ประติมากรรมของมีเซียมมีวิวัฒนาการที่ชัดเจน เนื่องจากช่วงชีวิตหลังจากงานจิตรกรรมทั้งหมด กว่า 30 ปี มีเซียม อุทิศให้กับงานประติมากรรมและกิจกรรมที่เกี่ยวกับศิลปะ แขนงอื่นๆ เช่น การเขียนบทความเกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรม ก่อตั้งกองทุนศิลปะ เป็นต้น |
ในระหว่างจัดทำโครงการพิพิธภัณฑ์ศิลปะกลางแจ้ง ราวปี พ.ศ.2532 ขึ้นนั้น มูลค่าในผลงานของเขียน ยิ้มศิริ ถือได้ว่าสูงมากตั้งแต่ยุคนั้น แต่ด้วยความอนุเคราะห์จากครอบครัวของศิลปิน จึงได้รับการสนับสนุนเพื่อนำผลงานมาจัดแสดงในพื้นที่ของมหาวิทยาลัยศิลปากร และก่อให้เกิดประโยชน์ต่อไป ผลงาน“ขลุ่ยทิพย์” ได้รับรางวัลเหรียญทอง ในการประกวดศิลปกรรมแห่งชาติครั้งที่ 1 ผลงาน “แม่” ” ได้รับรางวัลเหรียญเงิน ในการประกวดศิลปกรรมแห่งชาติครั้งที่ 3 และผลงาน “เริงระบำ” ได้รับรางวัลเหรียญเงิน จากการประกวดศิลปกรรมแห่งชาติครั้งที่ 4 ซึ่งชิ้นนี้ถือเป็นการนำเสนอเรื่องราวแบบตะวันตก ในลักษณะการเต้นบัลเล่ต์มาผสมผสานในการสร้างสรรค์ แสดงให้เห็นถึงวิธีการที่นำลักษณะเรื่องราวแบบตะวันตกเข้ามาผสมผสานกับลักษณะไทยอย่างกลมกลืน อันสะท้อนให้เห็นถึงวิถีชีวิตแบบไทยที่เริ่มรับอารยธรรมตะวันตกเข้ามาในยุคนั้น และเป็นสิ่งที่บ่งบอกถึงศิลปะของไทยที่กำลังจะดำเนินไปสู่ศิลปกรรมร่วมสมัยในเวลาต่อมา เขียน ยิ้มศิริ ได้รับการยกย่องให้เป็นศิลปินชั้นเยี่ยม สาขาประติมากรรม ในปีพ.ศ.2496 |
“ชนไก่” อีกหนึ่งผลงานของเขียน ยิ้มศิริ ที่สะท้อนให้เห็นถึงวิถีชีวิตแบบไทยผ่านผลงานประติมากรรม ที่ตั้งอยู่ในบริเวณสวนแก้ว แนวทางของเขียน นับได้ว่าเป็นการบุกเบิกและนำเอาคุณค่าของงานประติมากรรมไทยประเพณีเข้าผสมผสานกับประติมากรรมไทยในแนวทางร่วมสมัย ณ ช่วงเวลานั้นไว้ได้อย่างละเมียดละไม และลึกซึ้ง ลักษณะทางการแสดงออกของรูปทรงอันเป็นเอกลักษณ์ส่วนตัว โดยเฉพาะใบหน้าและลีลาของเส้นทีปรากฏในรูปทรงอย่างอ่อนช้อยและงดงามจนเป็นที่ยอมรับในความโดดเด่นของผลงาน เขียน ยิ้มศิริ ถือเป็นลูกศิษย์และผู้ช่วยคนสำคัญของ ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี เคยได้รับทุนเพื่อศึกษาต่อในสาขาประติมากรรมในประเทศอังกฤษ และอิตาลี โดยกลับมารับราชการในการสอนที่มหาวิทยาลัยศิลปากร และเคยดำรงตำแหน่งคณบดีคณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากรต่อจากศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี |
ประติมากรรม “คิด” เป็นผลงานของชลูด นิ่มเสมอ ซึ่งเป็นหนึ่งในประติมากรรมที่โดดเด่นสะดุดตา เวลาผู้คนผ่านมาพบเห็นผลงานชิ้นนี้ในบริเวณสวนแก้วแล้ว ก็ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า จะต้องหยุดถ่ายภาพเก็บไว้เป็นที่ระลึกแน่นอน
ชลูด เลือกใช้รูปทรงที่เรียบง่ายและหนักแน่นตามลักษณะของตนเอง ได้แก่ รูปทรงผู้หญิงในอิริยาบถ สภาพแวดล้อม และกิจกรรมต่าง ๆ มาตัดทอนออกให้เหลือเพียงรูปทรงเรียบง่าย การทำแบบร่างผลงานเพื่อคลี่คลายแนวความคิด โดยเฉพาะก่อนที่จะสร้างเป็นประติมากรรมขนาดใหญ่นั้น ชลูดจะใช้วิธีการขึ้นรูปด้วยดินบ้าง ด้วยปูนปลาสเตอร์บ้าง จนรูปทรงเป็นที่น่าพอใจ ก่อนจะนำมาขยายเป็นผลงานจริง จึงทำให้ผลงานภาพร่างของชลูดนั้นหลากหลายและมีจำนวนมาก ชลูด เป็นผู้สร้างสรรค์ผลงานศิลปะในช่วงรอยต่อระหว่างยุคเก่ากับยุคใหม่ของวงการศิลปะสมัยใหม่ในไทย โดยสร้างสรรค์ผลงานศิลปะที่มีคุณค่าไว้เป็นจำนวนมาก ผลงานในยุคแรกๆนั้น เน้นไปที่รูปแบบเสมือนจริงซึ่งแฝงลักษณะของความเป็นไทยเอาไว้ในผลงานด้วยเรื่องราว รูปทรงที่เรียบง่าย โดยมีเนื้อหาเกี่ยวกับประเพณี วิถีชีวิต ของคนไทยในชนบทเป็นเอกลักษณ์ในผลงาน ในปี พ.ศ. 2498 ชลูดส่งผลงานเข้าร่วมประกวดศิลปกรรมแห่งชาติด้วยกันถึงสามสาขาในปีเดียวกัน และได้รับรางวัลจากการแสดงศิลปกรรมแห่งชาติ ครั้งที่ 6 ด้วยกันถึง 3 รางวัล ชลูดสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีศิลปบัณฑิต (สาขาประติมากรรม) เกียรตินิยมอันดับ 1 จากคณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร และได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติให้เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (ประติมากรรม) ในปี พ.ศ. 2541 |
สิทธิเดช แสงหิรัญ ถ่ายทอดผลงานประติมากรรมด้วยรูปแบบและเทคนิคแบบตะวันตก ด้วยการผสมผสานผลงานแนวประเพณีเข้ากับศิลปะสมัยใหม่ โดยแสดงความสมจริงและความงามของกายวิภาคดังที่ท่านถนัด โดยในเวลาต่อมา ผลงานประติมากรรมของ สิทธิเดชได้คลี่คลายสู่แนวทางเสมือนจริงทั้งทางด้านเนื้อหาและรูปแบบ แสดงความถูกต้องด้านกายวิภาคและท่าทางของมนุษย์ สิทธิเดชได้แสดงออกถึงเรื่องราวและการละเล่นของเด็กไทย โดยนำเสนอแง่มุมและรูปแบบในเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับมนุษย์ในวัยต่างๆ โดยที่เล็งเห็นถึงความถูกต้องทางรายละเอียดของสรีระตามความเหมือนจริง ซึ่งเป็นแนวทางที่สิทธิเดชเลือกสรรในผลงานประติมากรรม สิทธิเดชนับเป็นลูกศิษย์และผู้ช่วยคนสำคัญอีกท่านหนึ่งของศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ซึ่งฝากฝีมือไว้กับผลงานประติมากรรมที่สำคัญในประเทศไทยมากมาย อาทิ เป็นผู้ช่วยศาสตราจารย์ศิลป์ ในการปั้นอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย อนุสาวรีย์พระเจ้าตากสินมหาราช และอื่นๆ ได้รับการยกย่องให้เป็นศิลปินชั้นเยี่ยมในลำดับที่ 3 ถัดมาจากมิเซียม ยิบอินซอย และเขียน ยิ้มศิริ โดยผลงาน “วงกลม” ได้รับรางวัลเหรียญเงินจากการประกวดศิลปกรรมแห่งชาติครั้งที่ 4 จึงได้เป็นศิลปินชั้นเยี่ยม สาขาประติมากรรมในปีพ.ศ.2496 |
“พลัง” ผลงานของสนั่น ศิลากรณ์ เป็นอีกหนึ่งผลงานประติมากรรมในสวนแก้วที่หากใครเดินเข้ามาจากประตูทางเข้าวังท่าพระ ถัดจากกำแพงแก้วเข้ามา ก็จะพบกับผลงานชิ้นนี้เป็นชิ้นแรกในบริเวณสวนแก้ว ด้วยความโดดเด่นสง่างามในลักษณะประติมากรรมกายวิภาคของสัตว์ สนั่นถือเป็นประติมากรผู้สร้างสรรค์ผลงานอนุสาวรีย์ที่สำคัญในประเทศไทยอีกท่านหนึ่ง ผู้ซึ่งได้รับพระราชทานปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์สาขาประติมากรรมคนแรกของประเทศไทยเมื่อปีพ.ศ.2524 จากมหาวิทยาลัยศิลปากรเป็นคนแรก เคยได้รับทุนเพื่อไปศึกษาผลงานศิลปะที่ประเทศอิตาลี สนั่น เป็นลูกศิษย์รุ่นแรกของศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี และถือเป็นผู้ช่วยคนสำคัญ ที่ได้ร่วมกันสร้างสรรค์ผลงานในประเทศไทยไว้มากมาย ทั้งภาพปั้นนูนบริเวณฐานอนุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ภาพปั้นนูนบริเวณฐานอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย รูปปั้นทหารประกอบอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ และอื่นๆ โดยปั้นร่วมกับประติมากรคนสำคัญหลายท่านในยุคนั้น นอกจากอนุสาวรีย์ที่สำคัญในไทยแล้ว สนั่นยังเป็นผู้ออกแบบและสร้างอนุสาวรีย์ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ภายในมหาวิทยาลัยศิลปากร ซึ่งถือเป็นหนึ่งในผลงานอันทรงคุณค่า ซึ่งปัจจุบันยังคงตั้งอยู่บริเวณลานหน้าคณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ อันเป็นศูนย์รวมเหล่าบรรดาศิษย์ของมหาวิทยาลัยศิลปากรในปัจจุบันอีกด้วย |